ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับในฐานะจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และการต้อนรับที่แสนอบอุ่นจากคนไทย
กระแสความสนใจในประเทศไทยยิ่งเพิ่มสูงขึ้นหลังจากการปรากฏตัวของ “ลิซ่า” แห่งวง Blackpink ในซีรีส์ดัง The White Lotus ซึ่งช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในฐานะจุดหมายปลายทางระดับโลก นับเป็นโอกาสทองสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในการดึงดูดเหล่า “นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก” ซึ่งมักมีแนวโน้มที่จะยอมใช้จ่ายเพื่อที่พัก ร้านอาหาร หรือกิจกรรมท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์เฉพาะตัวให้
บทความจาก McKinsey & Company วิเคราะห์แนวโน้มการท่องเที่ยวทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากการระบาดของ COVID-19 การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมีมูลค่าถึง 8.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2567 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 9% ของ GDP โลก ที่น่าสนใจคือ แม้การท่องเที่ยวภายในประเทศจะยังคงเป็นส่วนสำคัญ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 75% แต่ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรปตะวันออกก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่เคยถูกมองข้ามกำลังเติบโตกำลังเติบโตผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างสรรค์และตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดย McKinsey คาดว่าประเทศไทยจะขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 5 ของโลกได้ภายในปี 2573 จากเดิมที่อยู่ในอันดับ 8 เมื่อปี 2566
การเติบโตของการท่องเที่ยวระดับหรูในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยเองก็กำลังมุ่งเน้นการพัฒนาประสบการณ์การท่องเที่ยวระดับหรู (Luxury Tourism) เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มองหาความพิเศษและแปลกใหม่ เช่น รีสอร์ตส่วนตัวบนเกาะ แพ็คเกจสุขภาพระดับพรีเมียม และการลิ้มรสอาหารในร้านที่ได้รับดาวมิชลิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่นำเสนอในเรื่อง The White Lotus
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังไทยเป็นจำนวนสูงถึง 40 ล้านคนภายในปี 2568 โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มองหาประสบการณ์หรูหรา ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวขึ้นอีก 7.5%
นโยบายหลักคือกลยุทธ์เชิงรุกและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับตลาดนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่
- การจัดอีเวนต์ระดับโลก เช่น เทศกาลดนตรีนานาชาติ การประชุมระดับนานาชาติ การแข่งขันกีฬา และแฟชั่นโชว์ พร้อมทั้งจับมือกับแบรนด์ลักซ์ชัวรีเพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง
- การพัฒนาแพ็กเกจท่องเที่ยวเฉพาะบุคคล ควบคู่ไปกับการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวด้านสุขภาพ ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อสร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย
- พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาสนามบิน ท่าเรือสำหรับเรือยอช์ต หรือบริการรถเช่าระดับพรีเมียม
นวัตกรรมดิจิทัลในการรองรับนักท่องเที่ยวระดับหรู
ปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อประสบการณ์การท่องเที่ยวระดับหรูในยุคนี้อย่างมาก จากการศึกษาของ Trip.com Group ที่สำรวจนักท่องเที่ยวกว่า 6,000 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่าในปี 2568 นักท่องเที่ยวจะมองหาการท่องเที่ยวที่มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และมอบประสบการณ์ที่ออกแบบมาเพื่อตนเองโดยเฉพาะ
หนึ่งในเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมคือ AI Concierge หรือระบบผู้ช่วยอัจฉริยะที่ช่วยให้บริการแบบเฉพาะบุคคล ตั้งแต่การแนะนำโรงแรมและร้านอาหาร ไปจนถึงการจัดการจองกิจกรรมตามความสนใจ ในขณะเดียวกัน โรงแรมระดับหรูยังนำเสนอเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น ระบบเช็คอินแบบไร้การสัมผัส บริการห้องพักที่ควบคุมด้วยเสียง การให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน และทัวร์เสมือนจริงเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์เหนือระดับ
อนาคตของการท่องเที่ยวระดับหรูในไทย
ประเทศไทยมีองค์ประกอบครบถ้วนที่จะเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวระดับหรู ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม มรดกทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ หรืออัธยาศัยของคนไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
แม้กระแสความสนใจที่เกิดจาก The White Lotus จะช่วยดึงดูดความสนใจในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ความนิยมชั่วคราวจากกระแสนี้ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวได้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้จะช่วยยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ที่มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้
ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการยืนหยัดในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับหรูในตลาดโลก การลงทุนในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างความได้เปรียบและรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลกในอนาคต