ในยุคที่ข้อมูลถูกผลิตและเผยแพร่ในปริมาณมหาศาล Open-Source Intelligence หรือ OSINT กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ รายงานจากหน่วยงานรัฐบาล และบทความวิชาการ
แต่สิ่งที่ทำให้ OSINT ทรงพลังยิ่งขึ้นคือการผสมผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าไปในกระบวนการ เพื่อยกระดับความสามารถในการตรวจจับภัยคุกคามและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
OSINT คืออะไร?
Open-Source Intelligence (OSINT) หมายถึง การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ เช่น:
- สื่อดั้งเดิม (หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์)
- แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
- สิ่งพิมพ์ทางวิชาการ
- รายงานของหน่วยงานภาครัฐ
- ข้อมูลสาธารณะจากอินเทอร์เน็ต
ในแวดวงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) OSINT ถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องระบบจากภัยคุกคาม โดยใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อวิเคราะห์และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ สืบค้นจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ในการคาดการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามก่อนที่จะเกิดขึ้น
ประโยชน์ของ OSINT และ AI
การนำ OSINT มาใช้ในอดีตมักต้องอาศัยกระบวนการทำงานที่ใช้แรงงานคนจำนวนมาก ตั้งแต่การระบุแหล่งข้อมูล การรวบรวม การประมวลผล การวิเคราะห์ จนถึงการผลิตรายงานเชิงลึก ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและเสี่ยงต่อข้อผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ แต่การเข้ามาของ AI ทำให้ OSINT มีประสิทธิภาพมากขึ้นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
1. การลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน (Automating Repetitive Tasks)
AI สามารถช่วยลดภาระของผู้ปฏิบัติงานโดยทำการรวบรวมและจัดเรียงข้อมูลจำนวนมหาศาลในเวลาอันสั้น เช่น การดึงข้อมูลจากโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน
2. การวิเคราะห์หลายรูปแบบและหลายภาษา (Multilingual & Multimodal Analysis)
AI มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจากหลายสื่อ เช่น ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และเสียง รวมถึงเข้าใจในหลาย ๆ ภาษา ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย
3. การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (Predictive Analytics)
AI มีความสามารถในการวิเคราะห์รูปแบบและแนวโน้มในข้อมูล ทำให้เราสามารถคาดการณ์ภัยคุกคามในอนาคตและเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที
ความเสี่ยงจาก OSINT เมื่อใช้ AI ในทางที่ผิด
แม้ AI จะมีประโยชน์อย่างมหาศาล แต่การใช้ OSINT ร่วมกับ AI ก็มีความเสี่ยงสูง หากตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดีหรืออาชญากรทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็น
1. การเข้าถึงข้อมูลลับและข้อมูลส่วนตัว
เครื่องมือ OSINT ช่วยให้ผู้โจมตีสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญที่ถูกเปิดเผย เช่น
- ข้อมูลบัญชีผู้ใช้งานที่รั่วไหล
- ที่อยู่ IP
- ที่อยู่กระเป๋าเงิน Bitcoin
- ทรัพย์สินทางดิจิทัล
2. การโจมตีทางไซเบอร์ที่ซับซ้อน
ผู้ไม่หวังดีสามารถใช้ OSINT เพื่อ
- ออกแบบแคมเปญฟิชชิง (Phishing) ที่มีความแม่นยำสูง จนสามารถล่อลวงเป้าหมายให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลสำคัญได้
- เจาะระบบบัญชีผู้ใช้งาน (Account Takeover)
- ใช้ Deepfake ในการโจมตีทางวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) เช่น การปลอมแปลงเป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว
- พัฒนา Malware ที่สามารถหลบเลี่ยงระบบรักษาความปลอดภัย
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มแฮกเกอร์ที่รู้จักในชื่อ “CyberCaliphate” ซึ่งเคยใช้เทคนิค OSINT เพื่อรวบรวมข้อมูลและยึดบัญชีโซเชียลมีเดียของ CENTCOM (หน่วยบัญชาการกลางของสหรัฐฯ) จากนั้นจึงสร้างแคมเปญฟิชชิง รวมถึงโพสต์สื่อ Propaganda ลงบน Twitter และ YouTube ด้วยบัญชีทางการของ CENTCOM ทำให้องค์กรเสื่อมเสียชื่อเสียง
องค์กรควรเตรียมตัวรับมืออย่างไร?
เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการใช้ OSINT และ AI องค์กรจำเป็นต้องวางแผนและเสริมสร้างการป้องกันโดย
- ดำเนินการตรวจสอบ OSINT อย่างสม่ำเสมอ การตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะช่วยลดโอกาสที่ข้อมูลสำคัญจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
- ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามและวิธีป้องกันแก่พนักงาน ช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางสังคม
- กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวด การจัดการความเสี่ยงจากบุคคลภายนอกในยุคที่เครือข่ายพันธมิตรเชื่อมต่อกันอย่างใกล้ชิด
โดยสรุปแล้ว AI และ OSINT ถือเป็นการผสมผสานที่นำไปสู่โอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกไซเบอร์ แม้ว่าการใช้ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูล แต่มนุษย์ก็ยังต้องระวังการใช้งานในทางที่ผิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ องค์กรจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและเสริมสร้างมาตรการความปลอดภัยอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ยังควรสร้างความตระหนักรู้ในด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการต่อกรกับภัยคุกคามที่กำลังดำเนินต่อไปในยุคดิจิทัล