นวัตกรรม Electroceuticals อุปกรณ์ขนาดจิ๋วที่ส่งกระแสไฟฟ้าสื่อสารกับสมองผู้ป่วย

สิงหาคม 4, 2024

อุตสาหกรรมยาและวงการการแพทย์ชั้นนำของโลกกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยี Electroceuticals ที่อาจเข้ามาแทนที่วิธีรักษาโรคต่าง ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน มาทำความรู้จักนวัตกรรมใหม่ตัวนี้ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนกันเลย

นวัตกรรม Electroceuticals คืออะไร

Electroceuticals คือ การรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ ด้วยอุปกรณ์ขนาดเล็กที่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เป็นสัญญาณสื่อสารไปยังสมองของผู้ป่วยเพื่อสั่งการอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นผลดีต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน (Obesity) ที่อาจนำ Electroceuticals มาช่วยลดระดับความรู้สึกหิว การใช้อุปกรณ์ปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นการทำงานและปรับสมดุลการเต้นของหัวใจ รวมไปถึงยังอาจมีศักยภาพในการยับยั้งเซลล์มะเร็งที่กำลังเป็นโรคภัยร้ายอันดับต้น ๆ ของผู้คนทั่วโลกมากยิ่งขึ้นในยุคนี้อีกด้วย

ปัจจุบันอุตสาหกรรมและธุรกิจ Electroceuticals นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้เกือบ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2567 และมีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นถึงกว่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2572 โดยนับเป็นอัตราที่สูงกว่า 7% (CAGR) ต่อปีเลยทีเดียว โดยเฉพาะอุปกรณ์ Electroceuticals แบบเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Cardiac Pacemaker ที่ช่วยรักษาอาการหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ รวมถึงประสาทหูเทียม หรือ Cochlear Implant ซึ่งสามารถแปลงเสียงต่าง ๆ เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังสมองให้ผู้ที่สูญเสียการได้ยินกลับมาดำเนินชีวิตอย่างสะดวกสบายได้อีกครั้ง

นวัตกรรม Electroceuticals ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณและเร่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทยาระดับโลกหลากหลายแห่งอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น Johnson & Johnson จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ร่วมลงทุนปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพชื่อว่า CVRx ด้วยเม็ดเงินมูลค่ากว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อประดิษฐ์อุปกรณ์รักษาโรคหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า และบริษัท Boehringer Ingelheim จากประเทศเยอรมนี ได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัพด้านการวิจัยเวชภัณฑ์ Circuit Therapeutics ในการศึกษาระบบประสาทและพัฒนาเทคโนโลยี Electroceuticals เพื่อรักษาโรคอ้วนและความผิดปกติด้านการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ เช่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health) ยังทุ่มงบประมาณกว่า 248 ล้านดอลลาร์กับโครงการ SPARC ที่มุ่งสร้างนวัตกรรมการรักษารูปแบบใหม่ด้วยพลังงานไฟฟ้า

 

จากสถิติในปี 2562 นวัตกรรมด้าน Electroceuticals อย่างประสาทหูเทียมได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บกพร่องทางการได้ยินทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 736,000 คน

ข้อได้เปรียบและประโยชน์ของ Electroceuticals 

สาเหตุที่นวัตกรรม Electroceuticals ได้รับความสนใจในฐานะอีกหนึ่งทางเลือกการรักษาโรคนั้นเป็นเพราะว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีศักยภาพเหนือกว่าการพัฒนาและให้ยารูปแบบเดิม ๆ หลายข้อ ประการแรกคือ 90% ของการพัฒนายามักจะล้มเหลวก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยทดลองในคน หรือ Clinical Trial นอกจากนี้ แต่ละครั้งยังอาศัยเงินลงทุนจำนวนมากถึงประมาณ 2 – 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 10 – 15 ปีเลยทีเดียวกว่าจะสามารถผลิตยาที่ปลอดภัยได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาดให้ผู้ป่วยทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่ายาตัวดังกล่าวจะผ่านกระบวนการทั้งหมดข้างต้นมาได้สำเร็จจนใช้งานแพร่หลายในโรงพยาบาลแล้ว แต่ยารักษาทั่วไปก็ยังจำเป็นต้องใช้ระยะเวลากว่าจะถูกดูดซึมและเริ่มออกฤทธิ์ปกป้องรักษาอาการผิดปกติในร่างกายของผู้ป่วย ยาที่ให้ผ่านทางการฉีดหรือรับประทานยังอาจเดินทางไปไม่ถึงจุดที่แพทย์ต้องการรักษาให้หายดี แต่กลับกระจายตัวไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ จนเกิดผลข้างเคียงอันตรายได้เช่นกัน ยังไม่นับว่ายารักษาบางตัวมีประสิทธิภาพกับผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจหลงลืมหรือรับประทานยาผิดสัดส่วนที่แพทย์สั่งหากมียารักษาหลายตัวที่ต้องใช้เป็นประจำตามเวลาที่กำหนด

นวัตกรรมสมัยใหม่อย่าง Electroceuticals จึงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ความท้าทายของการใช้ยาแบบดั้งเดิม เพราะอุปกรณ์ขนาดจิ๋วเหล่านี้สามารถรักษาอาการผิดปกติของอวัยวะส่วนนั้น ๆ ได้อย่างตรงจุด ไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับส่วนอื่นของผู้ป่วยอีกต่อไป อุปกรณ์ Electroceuticals ยังมีความ Personalization เพราะปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาตามความต้องการของผู้ป่วยคนนั้น ๆ และไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะลืมทานยาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดติดตั้งเครื่องช่วยปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อสื่อสารกับเส้นประสาท Vagus Nerve ในสมองให้รู้สึกหิวหรืออยากอาหารน้อยลง เทียบกับการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดกระเพาะที่ทั้งเสี่ยง มีความซับซ้อนสูง และมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือขาดสารอาหารสำคัญบางอย่าง

อุปกรณ์จากบริษัท SetPoint Medical ที่เมื่อผ่าตัดฝังบริเวณคอของผู้ป่วยจะส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทเพื่อบรรเทาโรคต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบ (Rheumatology) และ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการแพทย์พลังงานไฟฟ้าอย่าง Electroceuticals จะยังไม่แพร่หลายมากนักและอาจเข้าถึงได้ยากโดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยจำนวนมากในประเทศด้อยโอกาส แต่ด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ อุปกรณ์ขนาดจิ๋วอันทรงพลังนี้จะกลายเป็นเครื่องมือรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพและช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกได้อย่างแน่นอน

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ